ความเป็นมาโครงการ
การพัฒนาประเทศในทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้เกินขีดจำกัด กอรปกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ในหลายปีที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมไปอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยเคยเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลก ที่จำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้มีการบุกรุกทำลายเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศของพืชเปลี่ยนจนพืชบางชนิดได้สูญพันธุ์ไป ในการเพิ่มผลผลิตของการปลูกพืชนั้น การใช้พันธุ์ดีเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตจะสูงขึ้นหากรู้จักใช้พันธุ์ดี ที่มีความทนทานต่อโรคและแมลง ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อให้ได้มาซึ่งพันธุ์ดี สิ่งที่สำคัญคือ "พันธุกรรมพืช" การเสาะหาพันธุกรรมใหม่ๆ จึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง จังหวัดเชียงใหม่มีสภาพพื้นที่เหมาะสมกับการเกษตร การปลูกพืช และมีพรรณพืชต่างๆ หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีป่าไม้ที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำหลายสาย ก่อนปี พ.ศ. 2520 ลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ก็เป็นลุ่มน้ำหนึ่งที่มีน้ำไหลตลอดปี แต่สภาพการณ์เกี่ยวกับการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า บริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ ราษฎรที่อาศัยอยู่แล้วก็ตาม การลักลอบตัดไม้ในบริเวณ หรือลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้นก็ยังมีอยู่เสมอ ทำให้สภาพของป่าไม้เสื่อมโทรมลงทุกที และลำน้ำห้วยแม่โจ้ซึ่งเคยมีน้ำไหลตลอดฤดูเริ่มหยุดไหลในฤดูแล้ง ความเอาใจใส่ดูแลป่าไม้บริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ ประกอบกับความห่วงใยของราษฎร ได้ทราบถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และในการเสด็จพระราชดำเนินมายังสถาบันเทคโนโลยี การเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2521 จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้สถาบันฯ หาลู่ทางเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาห้วยแม่โจ้ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่ราษฎรในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ได้ประสานงานกับสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ สำรวจสภาพพื้นที่ทั่วไปของแหล่งน้ำ ทราบว่าห้วยแม่โจ้เป็นแหล่งน้ำที่ราษฎรใน 3 ตำบล คือ ตำบลหนองหาร ตำบลป่าไผ่และตำบลเมืองเลน อำเภอสันทราย ใช้น้ำเพื่อการบริโภคและเพาะปลูก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 8,200 ไร่ การพัฒนาป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมอื่นต้องใช้ทรัพยากรสูง โดยเฉพาะการสร้างอ่างหรือฝายเก็บน้ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน โดยที่สถาบันฯ มีงบประมาณจำกัด จึงได้ขอการสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชนจัดกิจกรรมที่พอจะทำได้มาเป็นระยะๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพื้นที่ห้วยแม่โจ้อีก และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมชลประทาน พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในบริเวณต้นน้ำ เพื่อเป็นแหล่งอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรของราษฎร ในการเสด็จพระราชดำเนินคราวเดียวกันนี้ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ จัดทำแปลงปลูกไม้ใช้สอยสำหรับหมู่บ้านใกล้เคียง และส่งเสริมบริการด้านการเพาะปลูกอีกด้วย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินจากตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ มาทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริ บ้านโปง ในพื้นที่ลำน้ำห้วยแม่โจ้ บริเวณบ่อน้ำวัดแท่นพระผาหลวง และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ โดยคณาจารย์ นักศึกษา ช่วยดูแลรักษาป่าบ้านโปง เพราะอยู่ใกล้สถานที่ ช่วยแนะนำชาวบ้านในท้องถิ่นให้รู้ถึงคุณค่าของป่า และให้ปลูกไม้โตเร็วเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังช่วยแนะนำอาชีพให้แก่ราษฎร และให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่ดีที่สุด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2534 อธิการบดีและอาจารย์ 4 ท่าน ได้นั่งเครื่องบินอออกสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีราษฎรบุกรุกแผ้วถาง และลักลอบตัดไม้มากยิ่งขึ้น ที่ป่าสันทรายบางแห่งถูกราษฎรจับจองเป็นที่ทำกิน นอกจากนี้หน่วยราชการบางแห่งขอใช้ประโยชน์ และเอกชนได้ทำเรื่องขอเช่ามากขึ้น ทางสถาบันฯ เกรงว่าจะไม่เหลือป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารอีกต่อไป จึงได้ทำโครงการอนุรักษ์ ศึกษา และพัฒนาป่าบ้านโปงขึ้น และกรมป่าไม้ได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นไปตามพระราชดำริต่อไป โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นโครงการที่ดำเนินการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชกระแสกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง เมื่อเดือน มิถุนายน 2535 พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธุ์ 2536 จึงได้เกิดโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้น โดยได้ดำเนินการกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช สำรวจเก็บรวบรวม ปลูกรักษา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช การพัฒนาพันธุ์พืช และกิจกรรมสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สำหรับในส่วนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สนองพระราชดำริ โดยจัดพื้นที่บางส่วนของโครงการอนุรักษ์ ศึกษา และพัฒนาป่าบ้านโปง เพื่อเข้าร่วมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ จำนวน 3 แปลง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 290 ไร่ โดยเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และได้ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมาย
1. เพื่อพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช ให้เกิดประโยชน์ถึงมหาชนไทย
วัตถุประสงค์
1. ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช
2. ให้ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ จนเกิดผลประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย
3. ให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช สื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ