ประวัติความเป็นมาของกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดบ้านคลองฉนวน จัดตั้งเมื่อ วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๘ เดิมชื่อ “กลุ่มอาชีพสตรีผลิตภัณฑ์ตาลโตนด” จากแนวคิดที่จะแปรรูปวัตถุดิบในท้องถิ่นคือตาลโตนดให้มีมูลค่าเพิ่ม ในระยะแรกมีสมาชิกรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มจำนวน ๑๕ คน ลงหุ้นคนละ ๒๐๐ บาท เป็นทุนในการซื้อวัตถุดิบในการดำเนินงาน เพื่อผลิตน้ำตาลแว่น และขนมโก๋ เพื่อจำหน่าย แต่กลุ่มยังไม่เข้มแข็งนัก จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๑ กลุ่มสทิงพระสร้างสรรค์และศูนย์ศรีเกียรติพัฒน์ ได้จัดทำโครงการ “หมู่บ้านตาลโนด” โดยได้นำนักท่องเที่ยวจากสมาคมแพทย์แผนไทยและครอบครัวจากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน ๓๐๐ คน มาท่องเที่ยวที่อำเภอสทิงพระ มีสื่อมวลชนต่าง ๆ มาทำข่าวประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมที่รู้จักของสาธารณชนมากขึ้น ในปีต่อมา นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่ม ทำให้กลุ่มได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น มีหน่วยงานต่างๆให้การสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น
กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดบ้านคลองฉนวน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ ปัจจุบันนี้สมาชิกทั้งหมด ๑๕ คน โดยกลุ่มได้รับซื้อน้ำตาลโตนดเหลวจากชาวบ้านในหมู่บ้านและบริเวณข้างเคียงเป็นวัตถุดิบมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนด ได้แก่ น้ำตาลแว่นและน้ำตาลผง ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิต เช่น การใช้วัสดุธรรมชาติเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ การใช้แว่นน้ำตาลจากใบโตนด ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชนในการทำแว่นน้ำตาลจากใบโตนด ปัจจุบันกลุ่มมีความเข้มแข็งและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ได้มาศึกษาเรียนรู้ และเป็นที่ศึกษาดูงานของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัด โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ได้รับคัดเลือกให้เป็น OTOP ท่องเที่ยว ของอำเภอสทิงพระเนื่องจากเป็น OTOP ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีจุดเด่นทางด้านประเพณี ศิลปะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอำเภอสทิงพระ
ตําแหน่งที่ตั้งกลุ่ม
เลขที่ ๑๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดบ้านคลองฉนวน (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองฉนวน) เป็นกลุ่มที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิต โดยทางกลุ่มได้รับซื้อน้ำตาลโตนดเหลวจากชาวบ้านในหมู่บ้านและบริเวณข้างเคียงเป็นวัตถุดิบมาแปรรูป ทำให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและชุมชนในหมู่บ้านแต่เนื่องจากในปัจจุบันทางกลุ่มมีปัญหาที่ต้องการให้มีการแก้ไข ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. แผงวางน้ำตาลแว่นที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่า ปัจจุบันหายากทางกลุ่มจึงต้องการวัสดุทดแทน
2. ปรับเปลี่ยนฉลากบรรจุภัณฑ์ น้ำตาลแว่นและผงให้ทันสมัยมากกว่าเดิม
จากการที่งานศูนย์เครื่องมือกลาง ได้ลงพื้นที่และสำรวจปัญหาของกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดบ้านคลองฉนวน จังหวัดสงขลา ทำให้ทราบถึงปัญหาหลายๆ งานศูนย์เครื่องมือกลาง จึงได้ร่วมมือกับอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำดังนี้.
1. หาวัสดุทดแทนแท่นแผงไม้ไผ่
2. ออกแบบฉลากให้มีความทันสมัย